วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เส้นทางเชียงใหม่ - จอมทอง


ในท่ามกลางหมอกไอปลายสุดเขา
ทมึนเงาแมกไม้ในดงป่า
คือเทือกเขาหิมาลัยปลายสุดตา
ในนามว่า "ดอยอินทนนท์" บนดินแดน

                 สูงสุดแดนสยามเขตคามนี้
                 พรรณพืชมีค่ามากมายให้หวงแหน
                 กว่าสองพันเมตรกิ่งแม่ปานตระหง่านแดน
                 เป็น"ป่าเมฆ" เนืองแน่นไม้โบรารณ
                

                              มี"มอส""เฟิร์น""ไลเคน" เห็นเกาะอยู่
                              "เต็ง""รัง" คู่"ก่อ" ใกล้"สน"ปะปนนั้น
                              "จำปีป่า" "กุหลาบพันปี" มีสีสัน
                              ดอกแดงนั้นรวมเป็นช่อละออตา


"กุหลาบป่า" ขาวโพลนตามโขดเขา
อีก" รองเท้านารี" "เอื้องหลวง""พวงระย้า"
ดอก"บัวทอง""เอื้องพลายงาม"อร่ามตา
สูงเทียมฟ้าป่าเทียมเมฆวิเวกเนา

กุหลาบพันปี

                                                                            บัวทอง


รองเท้านารี

                                                                   เอื้องหลวง


                                                                     เอื้องพลายงาม

                                                                    พวงระย้า

เต่าปูลู


                                                                            นกกินปลี
                 มีสัตว์ป่าอาศัยให้หลงเหลือ
                 กระทิงเสือกระซู่ช้างกวางผาเผ่า
                 ชะนีหมีหมูป่า"ปลาค้างคาว"
                 รวมทั้ง"เต่าหา""เต่าปูลู" อยู่ลำธาร


                             นกเล็กเล็กหลายพันธุ์นั้นหายาก
                             ผู้คนจากทั่วโลกเที่ยวบุกบั่น
                             "นกกินปลีหางยาวเขียว"มีแห่งเดียวนั้น
                              ต่างสีสันสดสวยช่วยป่างาม


ผีเสื้อสวยมีกว่าหมื่นห้าพันชนิด
และชีวิตสัตว์เล็กเล็กหลากหลายหลาม
ในภายใต้ผืนป่าน่าติดตาม
อีกงดงามแหล่งน้ำตกเป็นโกรกธาร


                        
                   

วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ก้าวสู่น้ำหนาว บรรพที่หนึ่ง อุทยานศรีเทพ

ไป ... เราจะไปเที่ยวน้ำหนาวกัน  ใช่ จังหวัดเพชรบูรณ์ และเราแวะที่อุทยานศรีเทพก่อน
















บนเส้นทางข้างหน้ายามฟ้าสาง
กับแถบทางส้มอ่อนซ้อนเมฆใส
อีกแนวนาเขียวละอ่อนฟ้อนแกว่งไกว
และลมไล้ก้ามปูอยู่ริมทาง

                            ดูแดดแดงแฝงมะพร้าวเมื่อคราวฝน
                            พระรับนิมนต์คนใส่บาตรเห็นอยู่บ้าง
                            ละอองหมอกลอยคล้ายไฟไหม้ฟาง
                            สองฟากฝั่งสวยงามตามเห็นจริง

                                          มาถึง ณ อุทยานประวัติศาสตร์
                                          มนุษยชาติย้อนรำลึกถึงบางสิ่ง
                                          "ศรีเทพ" หัวเมืองเก่าเล่าว่าจริง       
                                          ที่เคยยิ่งใหญ่ใกล้กับเพชรบูรณ์

กรมพระยาดำรงฯ ทรงค้นว่า
ลุ่มป่าสักน้ำนั้นเมืองหนึ่งสูญ
ระหว่างชัยบาดาลกับเพชรบูรณ์
หากมีมูลเพราะพบของโบราณ

                          จึงสัณนิษฐานสถานที่แห่งนี้
                          ว่าเป็น"ศรีเทพ" เมืองเฟื่องสถาน
                          นับสองพันกว่าปีที่เนานาน
                          มีหลักฐานร่องรอยของชุมชน

                                            จึงดำเนินผ่านคันคูดิน
                                             เห็นทั้งสิ้นเขตขัณฑ์ตามกล่าวกร่น
                                             เมืองชั้นนอกรายรอบเป็นขอบวน
                                             รูปกลมมนเส้นผ่ากลางประมาณไมล์

เหลี่ยมผืนผ้าต่อกับเมืองชั้นใน
เหลือกลับกลายแต่เสายืนต้นให้
มีเสมาตระหง่านอยู่ประปราย
กับลวดลายทับหลังกรอบประตู

                             จำหลักรูปพระอิศวรอุ้มนางปารพตี
                             กำหนดที่พุทธศตวรรษสิบเจ็ดได้
                             รูปแบบปาปวนนครวัดตอนปลาย
                             แสดงให้เห็นรุ่งเรืองกระเดื่องนาม

                                             ที่รายรอบขอบขัณฑ์นั้นโบสถ์ก่อ
                                             มีรูปหล่อศิลาแลงดูแกร่งกร่ำ
                                             จตุรัสรับมาจากศาสนาพราหมณ์
                                             ตามสถาปัตยกรรมงามเนื้อใน

ก้มลงกราบบังคมอาเศียรวาท
ณ เบื้องบาทบุษบงที่ทรงไว้
กับน้อมจิตจดจารสถานใน
รำลึกได้อลังการโบราณเนา

                              เหมือนย้อนรอยกลับมาหาอดีต
                              ดังชีวิตเกิดดับได้คล้ายสุขเศร้า
                              เมื่อผ่านสุขผ่านโศกแห่งโลกเรา
                              คือเศษเถ้าธุลีเหลือเผื่อให้ชม

                                            ตะวันเคลื่อนเลื่อนคล้อยตอนค่อนบ่าย
                                            เราเคลื่อนย้ายจากพินิจดังจิตสม
                                            กับปลาบปลื้มได้ถวายกายบังคม
                                            เต็มชื่นชมเมืองเก่าเราชื่นใจ


                   
                      

วันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

แม่ค้าแถวบ้าน

เสียงฝนที่ตกต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อคืน จบเกือบเช้า ปลุกให้ฉันตื่น อากาศข้างนอกขมุกขมัว และหนาวเย็น
อืม... กี่โมงแล้วนะ ตีห้า    ยังเช้าอยู่เลย

            ฟ้ากำลังรอสว่างกลางความดึก
            บอกรู้สึกว่ารอยเท้าก้าวไกลบ้าน
            เป็นอย่างนี้นิรันดร์ในสันดาน
            แต่สะท้านอยู่ในหัวใจเรา

บทกวีที่อ่อนหวานปนเศร้า ของกวีผู้มีชื่อเสียง ใครกันนะ ฉันจำไม่ได้แล้ว ลอยเข้ามาในโสตประสาท เป็นอย่างนี้ทุกครั้งในยามเช้า ฉันมักคิดคำนึงถึงบทกลอนบทนี้เสมอ

เสียงกึงกังของรถเข็นผ่านหน้าบ้าน ปลุกสำนึกให้กลับมา เสียงรถบรรทุกแว่วมาแต่ไกล ยามที่เรายังนอนอย่างบรมสุขอยู่ในที่นอนนุ่ม ๆ แต่ใครหลาย ๆ คน เริ่มออกทำมาหากินแล้ว

ตรงถนนกลางหมู่บ้าน เป็นจุดรวมของแม่ค้าพ่อค้าทั้งหลาย ที่เริ่มมีชีวิตชีวาอีกครั้ง เริ่มที่ซอยแรก
พี่น้องขายอาหารตักถุง เริ่มทยอยอาหารคาวจัดเรียงเต็มโต๊ะ หม้อต่อหม้อ ทั้งแกงจืด แกงเผ็ด ผัดเผ็ด
ปลาทอด สารพัด ดูน่าทาน ถัดมาพ่อค้าปลาทะเล มาไกลจากนครปฐม และรับปลาสด ๆ จากสมุทรสงคราม ปลาสด ๆ ไม่ชุบสารเคมี รับประกันความสด และราคายุติธรรม พวกลูกค้าเรียกว่า เจ้านครปฐม และยังมีผลไม้มาขายแถมพกด้วย

ตรงกันข้ามเป็นเจ้ากล้วยหักมุกปิ้ง ตั้งติดกับผักสด ซึ่งแม่ค้าสรรหาผักแปลก ๆ มาขายตลอดปี เช่นคะน้า
ฮ่องกง พริกหยวกเหลืองเอย เห็ดแปลก ๆ ผักปลอดสารพิษ ราคาค่อนข้างแพง แต่ของดี เรียกกันว่า แม่ค้าหัวสูง

ถัดลงมาอีก เป็นร้านขายหมูสด พวกเราเรียกกันว่า ร้านขายหมูปริญญา คนขาย ตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรี ก็เริ่มอาชีพขายหมูเลย ร่ำรวยมาจนทุกวันนี้ ติดกันเป็น เจ้าน้ำเต้าหู้ ซึ่งตั้งติดกับเจ้าปาท่องโก๋ แสนอร่อย และถัดมาก็เป็น ร้านหนังสืออาหมวย

เรื่อยลงมาตรงปากซอยอีกซอยหนึ่ง เป็นร้านขายน้ำเต้าหู้อีกร้าน ที่หน้าร้านจะขายล็อตเตอรี และเต้าหู้ก้อนเพลาเดียวกัน พอวันอังคารกับวันศุกร์ ก็จะมีเมนูขนมจีนน้ำยาใต้มาขายเพิ่มด้วย ถัดเข้าไปนิด เป็นร้านโจ๊กแสนอร่อย ผู้คนรุมร้านแน่นขนัดทุกวัน เรียกว่าหากระ ก็คนละครึ่งชั่วโมงเห็นจะได้

ร้านขายไข่ไก่พี่สาวยายหมวยขายหนังสือพิมพ์ อยู่หน้าซอยถัดมา อาซิ้มขายกาแฟรถเข็น อยู่ตรงข้าม ร้านขายหมูตาหน้าจืดอยู่ใกล้ ๆ กับร้านเป็ดพะโล้ ร้านลุงป้าเจ้าของสวนเดิม ก้เอาของในสวนที่แกไม่ได้ตัดที่สวนขาย ซึ่งมีผลิตผลหลายอย่าง เช่นตำลึง มะเขือ กล้วย ผักจิมน้ำพริกต่าง ๆ บางวันก็มีโสนด้วย ลุงป้าแสนขยัน ได้ค่าเช่าที่เดือนละสี่หมื่น ลูกทำงานธนาคารแถวบ้าน มีที่เหลือเป็นสิบไร่ ยังขยันเก็บของในสวนมาขาย ไม่อยู่นิ่ง นับเป็นตัวอย่างที่ดี

ฝั่งนี้เป็นแม่ค้าหมูปิ้ง อยู่ติดกับเจ๊ขายน้ำเต้าหู้อีกราย แล้วปากซอยบ้านฉัน ก็มีร้านขายผักสด และไข่ไก่ ไข่เป็ดท้องนามาตั้งขาย ด้านขวาของปากซอย ก็เป้นพ่อค้าของแห้ง พวกพริก กะปิ น้ำปลา จริง ๆ แล้วมีหลายร้าน ที่ขายของชำ แต่ร้านนี้ มีของมากกว่า เช่น ขมิ้นสด กระชาย หน่อไม้ดอง เป็นต้น

ฝั่งตรงกันข้ามปากซอยนี้ ก็เป็นเจ๊อ้วนขายหมูเจ้าประจำ เวลาผ่านหน้าร้าน แกชอบทักทายอารมณ์ดี
คราวหนึ่ง กำลังซื้อหมูอยู่ดี ๆ เธอเป็นลมหน้ามืด ฉันรีบวิ่งเข้าบ้าน ละลายยาลมไปให้ หล่อนเลยซาบซึ้งใจจนทุกวันนี้ ซื้อหมูทีไร ได้แถมทุกที หล่อนเป็นคนอารมณดี และมีคารม วันไหนใส่ทองเส้นใหญ่
ใครเย้า หล่อนก็จะตอบว่า " แหม รวยของพี่ ยังไม่เท่าหนี้ของน้องเลยจ้ะ " แล้วก็หัวเราะเอิ๊ก ๆ

 ร้านขายไก่ก็ติดอยู่กับร้านหมู แล้วก็ร้านผัก และผักอีกถัดไป อ้อ ร้านข้าวมันไก่ อยู่หัวมุมซอย ยังมีอีกมากมาย ที่ยังไม่กล่าวถึง

ฉันมานั่งอยู่ที่ร้านอาซิ้ม สั่งกาแฟ กับไข่ลวก แม่ค้าแถวบ้าน ที่คุ้นเคย และเป็นกันเอง บรรยากาศยามเช้า วันที่สดชื่น เริ่มต้นพร้อม ๆ กับการทำมาหากิน ผู้คนเริ่มออกมาจับจ่ายอาหาร จากจุดเริ่มต้นที่กลางซอยในหมู่บ้าน ยาวไปจนถึงท้ายซอย มีร้านรวงที่ตั้งขึ้นนับร้อยร้าน มีอาหารสด อาหารแห้ง อาหารสำเร็จรูป มากมาย พระเริ่มออกบิณฑบาตร ผู้คนเดินขวักไขว่

พอสักสิบโมง ตลาดเช้า ก็จะเริ่มวาย แม่ค้าก็กวาดเก็บของ ๆ ตน ทำความสะอาด เรียบร้อย ถนนก็จะเงียบสงบ ภาพยามเช้าก็จะหายไป แสงแดดทำให้พื้นที่สองข้างทาง แห้ง และสะอากตา

แม่ค้าแถวบ้าน กับคนคุ้นเคย กิจวัตรประจำวัน ที่มีให้เราเห็น และสัมผัสบรรยากาศตลาด ได้ทุก ๆ เช้า รู้สึกดีจัง เช้านี้ ฉันดื่มกาแฟ และตบท้ายด้วยชาร้อน

"ซิ้ม เก็บเงินค่ะ... เดี๋ยวไปทำงานไม่ทัน"

จบ.

วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เข้าพรรษา ... หน้าฝน



หยาดน้ำค้างยอดหญ้ายังท้าแสง
แนวดินแดงชายน้ำคงฉ่ำฝน
สกุณากรีดกรายกับสายชล
ฟ้าหมาดฝนเช้านี้ที่บ้านเรา

                   ม่วงสีครามหวามไหวอยู่ชายน้ำ
                   โสนงามผักตบล้ออ้อพงเก่า
                   ราฝีพายตามน้ำอย่างแผ่วเบา
                   กับยามเช้าสดชื่นสองฝั่งคลอง

มาถึงท่าหน้าวัดจัดแจงขึ้น
ของดาษดื่นเตรียมหามาฉลอง
เข้าพรรษาฝนฟ้าน้ำท่านอง
จัดข้าวของดอกไม้ไว้สักการ์

                     ได้ทำบุญฉลองสลากพัตร์
                      ช่วยแจงจัดอาหารขันอาสา
                      ใส่กัณฑ์เทศน์ฟังธรรมตามศรัทธา
                      จวนถึงครารับพรจวนค่อนวัน

ก้มกราบพระประธานข้างในโบสถ์
ให้ละโกรธโลภหลงปลงสังขาร
แล้วออกมาจัดแจงแบ่งทำทาน
หว่านอาหารให้ปลาที่หน้าวัด

                        วัดนี้อยู่ริมน้ำนครไชยศรี
                        ปลาอ้วนพีมากมายกระจายจัด
                        อยู่รายรอบขอบขัณฑ์ทานของวัด
                        รอคนผลัดหมุนเปลี่ยนเวียนให้ทาน

พายทวนน้ำกลับบ้านหนทางเก่า
ฟ้าสีเทาอึมครึมครึ้มตอนผ่าน
จนฝนต้องคลองฉ่ำเหมือนวันวาน
รีบขึ้นบ้านหลบทันวันโชคดี......

                        เข้าพรรษา หน้าฝน กับบรรยากาศบ้านริมน้ำ ในยามเช้า สบาย ๆ สายน้ำ กับความเป็นไทย อยากเก็บความทรงจำ แบบนี้ ไว้นาน ๆ จัง.